กรดโฟลิค (Folic Acid) มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง
ช่วยในการสร้างส่วนประกอบสำคัญของพันธุกรรม (DNA) และมีความจำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์ มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญโปรตีน เมื่อได้รับกรดโฟลิคร่างกายจะเปลี่ยนโครงสร้าง กรดโฟลิคให้กลายเป็นโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์ และซ่อมแซมพันธุกรรมหรือ ดี-เอ็น-เอ (DNA) ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของร่างกาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเด็กทารกหญิงตั้งครรภ์ ส่วนในเด็กทั่วไป วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ก็ยังมีความจำเป็นต้องได้รับโฟเลตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง และใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงรวมทั้งป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางอีกด้วย

กรดโฟลิคกับหญิงตั้งครรภ์
ตามปกติแล้วกรดโฟลิคจะได้รับจากอาหารจำพวกไข่แดง ตับ ผักใบเขียวผลไม้รสเปรี้ยว ถั่ว แต่ปริมาณกรดโฟลิคที่ได้จากอาหารนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หญิงที่ตั้งครรภ์จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับเสริมเข้าไปเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบประสาท และป้องกันการเกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (เช่น Neural tube defect, Spina bifida) ของทารกในครรภ์จากการวิจัยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่รับประทานกรดโฟลิคตามที่แพทย์แนะนำ สามารถลดโอกาสการเกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลังของทารกในครรภ์ลงถึง 50% และมีงานวิจัยระบุว่าการรับประทานโฟลิควันละ 400 ไมโครกรัม ในช่วงระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
กรดโฟลิคกับภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจาง คือ ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน (ส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง) ซึ่งทำหน้าที่ในการนำพาออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ เมื่อสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่ผิดปกติ จะส่งผลให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเหนื่อยง่าย ซึ่งการขาดกรดโฟลิคก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดจางได้ทั้งนี้ยังสามารถพบภาวะเลือดจางจากการขาดโฟลิคได้ ในกรณีต่อไปนี้ ในผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสียเรื้อรัง ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการดูดซึมสารอาหารผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ โดยแอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึม และรบกวนกระบวนการเผาผลาญของกรดโฟลิคในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายต้องการโฟลิคในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์

เอกสารอ้างอิง
– ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร.โฟลิก กรดโฟลิก.http://www.haamor.com/th/กรดโฟลิก.html, วันที่สืบคั้น 25 มกราคม 2559
– http://www.drugs.com/dosage/folic-acid.html วันที่สืบคั้น 25 มกราคม 2559
– https://en.wikipedia.org/wiki/Folic_acid.html วันที่สืบคั้น 25 มกราคม 2559
– Goh YI, Koren G. (2008). “Folic acid in pregnancy and fetal outcomes’. J Obstet Gynaecol 28 (1):
3 -13.
– Hathcock JN, (1997), ‘Vitamins and minerals: efficacy and safety’, Am, J, Clin. Nutr, 66 (2):
427ㅡ37.